ศิลาจารึกหลักนี้มีสภาพชำรุดแตกหักเป็นบางส่วน มีอักษรจารึกเป็นตอนๆ เรียงเป็นแถวรอบฐาน สำเนาจารึกที่หอสมุดแห่งชาติมีอยู่ไม่สามารถเห็นรูปอักษรได้ชัดเจน โดยเฉพาะหลังคำว่า เทวี รูปอักษรหายไป ทำให้ไม่ทราบ
พระนามของเทวีนั้น คงปรากฏอยู่เฉพาะคำส่วนท้ายของพระนามว่า จินตาถา ซึ่งไม่ได้ใจความที่แน่ชัด ในการอ่านแปลจึงเว้นไม่แปลศัพท์คำนี้ ในส่วนลักษณะรูปสัณฐานของเส้นอักษรนั้น เหมือนกับรูปอักษรที่ปรากฏในศิลาจารึกเมืองศรีเทพ พช. 1 จังหวัดเพชรบูรณ์ จึงสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นจารึกที่สร้างขึ้นในสมัยเดียวกัน คือ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11
ต่อมาเมื่อวันที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2532 คณะอาจารย์จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ไปสำรวจจารึกที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย พบว่ามีศิลาจารึกชิ้นหนึ่งยาวประมาณ 28 ซม. รูปทรงเป็นส่วนหนึ่งของฐานบัว เมื่อนำมาต่อกับฐานบัวที่มีจารึกวัดจันทึกแล้วเข้ากันได้พอดี ข้อความในจารึกส่วนที่พบใหม่นี้เป็นตอนต้นของคำจารึกที่นายชะเอม แก้วคล้าย ได้อ่านไว้แล้ว ในการพิมพ์ครั้งนี้ได้นำส่วนต้นจารึกซึ่งรองศาสตราจารย์กรรณิการ์ วิมลเกษม อ่าน ผู้ช่วศาสตราจารย์ ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา แปล มารวมพิมพ์ไว้ด้วย