กองหอสมุดแห่งชาติได้รับสำเนาศิลาจารึก 2 หลัก หลักละ 3 สำเนา จากภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2529 หลักหนึ่งชื่อจารึกวัดกุดแต้ อักษร
ปัลลวะ ภาษาสันสกฤต มี 10 บรรทัด เป็นจารึกของพระเจ้าภววรมันที่ 2 อีกหลักหนึ่งชื่อจารึกวัดเขาน้อยสีชมพู เป็นภาษาสันสกฤต 9 บรรทัด ภาษาเขมร 26 บรรทัด รูปอักษรลบเลือนมาก เพราะถูกขูดขีดให้ลบหรือทำลายรูปอักษรจารึกดูคล้ายกับจะเป็นการกระทำที่จงใจเพื่อมิให้ผู้ใดอ่านได้เมื่อเจ้าหน้าที่นักภาษาโบราณดำเนินการอ่านแปล ปรากฏว่าอักษรลบเลือน ไม่สามารถอ่านแปลได้ กองหอสมุดแห่งชาติจึงให้เจ้าหน้าที่นักภาษาโบราณ งานบริการหนังสือภาษาโบราณ กองหอสมุดแห่งชาติ เดินทางไปสำรวจและจัดทำสำเนาจารึก ณ วัดเขาน้อยสีชมพู อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว (เดิมคือ จังหวัดปราจีนบุรี) เมื่อวันที่ 9-11 มกราคม พุทธศักราช 2530
เนื้อหาของจารึก เฉพาะที่อ่านแปลจากคำจารึกภาษาสันสกฤต 9 บรรทัด กล่าวถึงเชยษฐปุรสวามี คงเป็นชื่อของตำแหน่งขุนนาง เพราะภาษาเขมรมีคำว่า มฺรตาญ โกลญ เชยษฐปุระ ในบรรทัดที่ 10 ของหลักจารึก กับพบว่าในจารึก VAT THLEN1 ก็กล่าวถึง มฺรตาญโกลญ เชยษฐปุระ ว่าเป็นขุนนางที่มีความสำคัญคนหนึ่ง
ข้อความสำคัญของจารึกอีกตอนหนึ่ง คือ การระบุศักราช 559 ซึ่งตรงกับ พ.ศ. 1180 อันเป็นสมัยของพระเจ้าภววรมันที่ 2 แต่ไม่สามารถจับข้อความของจารึกว่า ได้กระทำอะไรในศักราชดังกล่าว