ตามหลักฐานเดิมกล่าวว่า ราษฎรบ้านเขามะกา พบจารึกขณะไถนาอยู่ในที่นาหน้าเขามะกา ตำบลศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว เมื่อประมาณเดือนเมษายน 2528 และผู้พบจารึกได้นำจารึกไปถวายเจ้าอาวาสวัดศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2531 พระครูศรีมหาโพธิคณารักษ์ เจ้าคณะอำเภอศรีมหาโพธิ วัดใหม่กรงทอง อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ได้ส่งสำเนาจารึกมาขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติอ่าน แปล แต่สำเนาจารึกนั้นไม่ชัดเจน จึงยังไม่ได้อ่านแปล จนถึงเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2531 กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ส่งสำเนาจารึกหลักเดียวกันนี้มาขอความอนุเคราะห์เจ้าหน้าที่ของหอสมุดแห่งชาติอ่านแปลอีกครั้ง แต่สำเนาที่ส่งมานั้นเป็นสำเนาที่ถ่ายเอกสาร จึงอ่านไม่ได้เช่นเดิม ต่อมาเมื่อวันที่ 5 - 7 สิงหาคม 2531 หอสมุดแห่งชาติจึงได้จัดส่งคณะสำรวจจารึกฯ เดินทางไปสำรวจจารึกดังกล่าว ตามหลักฐานที่แจ้งไว้เดิม ณ วัดศาลาลำดวน อำเภอเมืองสระแก้ว จังหวัดสระแก้ว แต่ไม่พบศิลาจารึก ทางวัดแจ้งว่า รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี นำไปไว้ที่ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี คณะสำรวจจารึกฯ ได้ตามไปที่ห้องรองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ณ ศาลากลางจังหวัดปราจีนบุรี แต่ไม่พบศิลาจารึก ทราบจากเจ้าหน้าที่หน้าห้องรองผู้ว่าราชการจังหวัดว่า ได้ย้ายศิลาจารึกไปกรุงเทพฯ แล้ว การตามหาจารึกจึงต้องหยุดชะงักลงในคราวนั้น
การตามหาจารึกค้างอยู่จนถึงวันที่ 18 สิงหาคม 2533 ผู้บันทึกจึงพบว่า จารึกหลักนี้ตั้งอยู่หลังพระพุทธรูปประธานในพระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร กรุงเทพฯ จึงได้คัดจำลองอักษร และวัดขนาดจารึกไว้เป็นเบื้องต้น ต่อมาเมื่อเดือนเมษายน 2550 สำนักโบราณคดีได้แจ้งให้กลุ่มหนังสือตัวเขียนและจารึก สำนักหอสมุดแห่งชาติ เดินทางไปสำรวจจารึกที่วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหารอีกครั้งหนึ่ง จารึกยังอยู่ ณ ที่เดิมจนถึงปัจจุบัน