จารึกนี้มีปรากฏอยู่ในหนังสือจารึกแห่งประเทศกัมพูชา (Inscriptions du Cambodge) เล่มที่ 6 ของศาสตราจารย์ ยอร์ช เซเดส์ หน้า 153 และมีเนื้อความดังต่อไปนี้
กระดาษคัดลอกจารึกแผ่นนี้ที่จังหวัดสุรินทร์ ประเทศไทย ได้ส่งมาจากกรุงเทพฯ โดยที่ไม่ได้บอกให้ทราบอย่างชัดเจนเกี่ยวกับสถานที่ที่ค้นพบ และค้นพบอย่างไร ณ จังหวัดสุรินทร์ ได้เคยค้นพบจารึกของพระเจ้ามเหนทรวรมันด้วย กระดาษคัดลอกแผ่นนี้ก็ไม่สู้ดี และบนน้ันมีจารึกอยู่ 2 หน้า หรือจารึก 2 ท่อน ของแผ่นจารึกซึ่งใช้ตัวอักษรในระหว่างพุทธศตวรรษที่ 15 - 16 เป็นจารึกที่สลักไม่สู้เรียบร้อย และมีตัว "รฺ" ซึ่งใช้ขีด 2 ขีด
บนจารึกท่อนหนึ่งอาจสังเกตเห็นเฉพาะคำดังต่อไปนี้ คือ "สมฺฤทฺธิ" (ความสำเร็จ) "โสฺวกฺ" (ถาด) และ "กลศ" (หม้อน้ำ)
จารึกอีกท่อนหนึ่งเป็นภาษาเขมร 10 บรรทัด ซึ่งยังสลักไม่สำเร็จ (ยกเวันโศลกภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นการสาบแช่ง) จารึกท่อนนี้เป็นส่วนหนึ่งของพระราชโองการเกี่ยวกับการสร้างศาสนสถาน บรรทัดที่ 5 กล่าวถึง "กํสฺเตงฺ ราชกุล (มหามนฺตรี)" ทำให้เราอาจกล่าวได้ว่า จารึกหลักนี้คงสลักขึ้นในรัชกาลพระเจ้าราเชนทรวรมัน หรือต้นรัชกาลของพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 ได้อ่านคำจารึกไว้แล้ว แต่ยังมิได้แปล จารึกหลักนี้เมื่อพิมพ์ในประชุมศิลาจารึกภาคที่ 4 ใช้ชื่อว่า จารึกจากจังหวัดสุรินทร์ การพิมพ์คร้ังนี้ใช้ชื่อใหม่ว่า จารึกสุรินทร์ 1